วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หนึ่งงานพอเพียง หนึ่งไร่หล่อเลี้ยงครอบครัว กับ ธีรพันธ์ บุญบาง ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง

ก่อนที่จะค้นพบ



       - กรมการพัฒนาชุมชน กำหนดให้จังหวัดดำเนินการโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น ประจำปี 2553 โดยคัดสรรกิจกรรมเข้ารับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และโล่รางวัลสิงห์ทองรวม 4 ประเภทได้แก่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง " อยู่เย็น เป็นสุข " / ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่น ชาย,หญิง / กลุ่ม , องค์การชุมชนแกนหลักสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ฯ ดีเด่นระดับจังหวัด / ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนระดับตำบลดีเด่น
     - จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น ประจำปี 2553  โดยแต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง "อยู่เย็น เป็นสุข" ดีเด่นและกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2553 ตามคำสั่งจังหวัด ฯ ที่  346 / 2553 ลงวันที่  11  กุมภาพันธ์  2553
     - ขณะเดียวกันเห็นว่ากิจกรรมตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อปี  2552  ซึ่งมีกิจกรรมย่อย 8 กิจกรรม ได้แก่ผู้นำสตรี / ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง / ผู้นำอาชีพก้าวหน้า / ศูนย์เรียนรู้ชุมชน / กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต / ผลิตภัณฑ์ OTOP / กลุ่มอาชีพ และแผนชุมชน  ยังเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสามารถกระตุ้นให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ จึงสนับสนุนให้มีการพิจารณาผลการดำเนินงานของกิจกรรมข้างต้นในครั้งนี้ด้วย  โดยจังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด (กิจกรรมเพิ่มเติม 8 ประเภท) ประจำปี  2553 ตามคำสั่งจังหวัด ฯ ที่ 1122 / 2553 ลงวันที่ 27  พฤษภาคม  2553 นำเสนอคณะกรรมการ ฯ ตามคำสั่งจังหวัด ฯ ที่ 346 / 2553 ลงวันที่  11  กุมภาพันธ์  2553 ให้ความเห็นชอบและจัดมอบรางวัลในระดับจังหวัดด้วย
         - จากการติดตามผลดำเนินงานกิจกรรมเพิ่มเติมทั้ง 8 ประเภท  พบว่าแต่ละกิจกรรมมีความน่าสนใจ  และสามารถถอดบทเรียนเพื่อนำใช้สนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดียิ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่  9  มิถุนายน  2553  ผมในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน ฯ พร้อมด้วยคณะทำงานได้เดินทางมาตรวจติดตามผลการดำเนินกิจกรรมเพิ่มเติม 8 ประเภทที่อำเภอหนองบัว  ได้รับฟังสรุปผลการดำเนินกิจกรรมรายกิจกรรมแล้ว  ได้พบกิจกรรมที่น่าสนใจสามารถสรุปบทเรียน โดยเฉพาะกิจกรรม " 1 งานพอเพียง  1 ไร่หล่อเลี้ยงครอบครัว " ของนายธีรพันธ์  บุญบาง  ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง  บ้านเนินน้ำเย็น หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์ เป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สามารถที่จะนำเผยแพร่แก่ผู้สนใจได้จึงขออนุญาตท่านผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ นำสรุปบทเรียนแก่ผู้สนใจ

ธีรพันธ์  บุญบาง  :  ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง

                     ธีรพันธุ์  บุญบาง เกิดเมื่อวันที่  17  มีนาคม  2497 เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน  6  คน ของนายแหวน  บุญบาง (อดีตกำนันตำบลหนองบัว) กับนางคำ  บุญบาง  ศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนโพฒิสารศึกษา อำเภอเมืองนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ (การปกครอง) ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  เริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้นำด้วยการเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี  2530  ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 4  หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์  สมรสกับนางกาญจนา  บุญบาง  มีบุตร,ธิดา รวม  3  คน  โทรศัพท์ 056-251252 และ 086 - 2034703

เบ้าหลอมนักปกครอง / นักพัฒนา

                    นับแต่เยาว์วัยจวบจนวัยหนุ่ม ธีรพันธุ์  บุญบาง ได้เรียนรู้และซึมซับความเป็นนักปกครองและนักพัฒนาจากกำนันแหวน  บุญบาง ผู้เป็นบิดาไว้อย่างแนบแน่น
                    จิตวิญญาณของนักปกครองและนักพัฒนาได้ปลุกเร้าความสำนึกของธีรพันธุ์  บุญบาง     อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งในปีพุทธศักราช  2530 ธีรพันธุ์  บุญบาง ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว  อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์
                      ระหว่างการเป็นผู้ใหญ่บ้านธีรพันธุ์  บุญบาง ได้ริเริ่มนำผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้านที่มีอยู่จำนวน  13  ราย มาทำการบำบัดรักษาในลักษณะของ " ธรรมบำบัด "    ผลงานครั้งนั้นทำให้อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ส่งผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษากับธีรพันธุ์  บุญบาง  เป็นจำนวนถึง 8 รุ่น ๆ ละ 120 คน
                     บ้านเนินน้ำเย็น หมู่ที่  1       ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์  ในความปกครองดูแลของ   ธีรพันธุ์  บุญบางมีจำนวนครัวเรือนถึง 323  ครัวเรือน  ประชากร  จำนวน 1850 คน  อาชีพส่วนใหญ่ทำนา และทำสวน  ธีรพันธ์  บุญบาง และคณะกรรมการหมู่บ้านได้แบ่งการปกครองออกเป็น  22  คุ้ม  คณะกรรมการหมู่บ้านของธีรพันธ์  บุญบาง พบว่าประชากรส่วนใหญ่ขาดการศึกษา  ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการระบบต้นทุนในการประกอบอาชีพ  ทำให้ฐานะยากจนมีผู้ตกเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานเรื่องรายได้เป็นจำนวนมากกว่า  100  ครัวเรือน  ธีรพันธ์ บุญบาง  และคณะกรรมการหมู่บ้านได้นำระบบการจัดทำบัญชีครัวเรือนมาใช้ทุกครัวเรือน  มีการวิเคราะห์รายรับ  รายจ่าย      ของครัวเรือนและชุมชน  บ้านเนินน้ำเย็นของ     ธีรพันธ์  บุญบาง  จึงได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบการจัดทำบัญชีครัวเรือนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

หนึ่งงานพอเพียง


                            ผลการทำงานของ       ธีรพันธ์  บุญบางทั้งด้านการปกครองและการพัฒนา  ส่งผลดีต่อประชากรของบ้านเนินน้ำเย็นเป็นอย่างมาก  ทำให้ธีรพันธ์  บุญบาง    ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีพุทธศักราช  2546  ธีรพันธ์  บุญบาง  ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหนบทองคำ  จากกระทรวงมหาดไทย  ขณะเดียวกันธีรพันธ์  บุญบาง  ซึ่งเชื่อมั่น  และศรัทธาต่อแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้น้อมนำแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ปฏิบัติในครอบครัว  ด้วยการนำหลักการพอประมาณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    มาปฏิบัติในพื้นที่  1  งาน ด้วยการดำนาปลูกข้าว เลี้ยงปลาดุกและเลี้ยงกบไปพร้อม ๆ กัน  ธีรพันธ์  บุญบาง    ค้นพบว่าพื้นที่  1 งาน สามารถผลิตข้าวเปลือกได้ถึง  27  ถัง  ปลาดุก 190 กิโลกรัม กบ 235  กิโลกรัม  ภายในระยะเวลา  3  เดือน คิดเป็นรายได้  29,600  บาท  ในรอบระยะเวลา 1 ปี สามารถทำรายได้เช่นนี้ได้ 3 ครั้ง  จึงทำให้ 1 ปี มีรายได้ถึง 88,800  บาท
                          นอกจากนี้ยังพบว่าแมลงและวัชพืชที่เกิดในนาสามารถเป็นอาหารของกบและปลาได้ด้วย  ขณะเดียวกันขี้ปลา ขี้กบ ยังเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าวได้เป็นอย่างดี  กระบวนการในพื้นที่นา 1 งานของธีรพันธุ์ จึงเป็นกระบวนการที่มีทั้งความพอประมาณ  ความมีเหตุผล       และการมีภูมิคุ้นกัน ไปในตัว  รายได้จากการใช้พื้นที่นา 1  งานทำให้ครอบครัวของธีรพันธุ์มีรายได้อย่างเพียงพอ






จาก 1 งานพอเพียงสู่ 1 ไร่หล่อเลี้ยงครอบครัว

                          จากพื้นที่เพียง 1 งาน ธีรพันธุ์  ได้ขยายพื้นที่เป็น 1 ไร่  โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น  4  ส่วน ๆ ละ  1  งาน  มีการจัดระบบน้ำ พืช  และสัตว์ ให้สามารถเกื้อกูลและสนับสนุนกันได้  โดยในส่วนที่  1  ธีรพันธุ์  ใช้พื้นที่สร้างคอกหมู คอกไก่ และทำนาบัว  โดยให้คอกหมู คอกไก่ อยู่ในพื้นที่สูง  และระบายมูลสัตว์จากคอกลงสู่นาบัว  ที่เลี้ยงปลาดุกและกบไว้ด้วย  พื้นที่ในส่วนนี้ธีรพันธุ์ มีรายได้จากการขายดอกบัว  ปลาดุก กบ หมู และไก่  รวมทั้งมีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รอบนาบัวด้วย
                          








ในส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว  เลี้ยงปลาดุก และเลี้ยงกบ พื้นที่ส่วนนี้จะเป็นพื้นที่ราบต่ำเพื่อระบายน้ำจากพื้นที่ส่วนที่ 1  ลงสู่พื้นที่นี้





                            ในส่วนที่  3  เป็นพื้นที่ใช้เพาะต้นกล้าเพื่อนำไปดำนา  รวมทั้งมีร่องน้ำเลี้ยงปลาดุก  ปลูกพืชผักสวนครัวทั้งชะอม ตะไคร้ ขิง ข่า กระเพราและโหระพา
                     






ในส่วนที่  4 เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ธีรพันธุ์ใช้พื้นที่ส่วนนี้ปลูกบ้านพักอาศัยขนาดพออยู่อาศัย  ใต้ถุนบ้านมีบ่อเลี้ยงกบ ปลาดุก และเลี้ยงเป็ดไข่ไว้ด้วย
                            ระหว่างพื้นที่ทั้ง 4 ส่วน ธีรพันธุ์  บุญบาง จัดระบบทางเดินให้เชื่อมต่อกัน  ธีรพันธุ์ ปลูกพืชผักสวนครัว  และตู้เย็นกลางแจ้งไว้ตลอดแนวทางเดิน  มีการจัดระบบน้ำให้สามารถถ่ายเททั้ง 4 ส่วน ในลักษณะลาดชันแบบขั้นบันได
                           










ปัจจัยที่ทำให้การทำงานในชุมชนประสบผลสำเร็จ

                          ธีรพันธุ์  บุญบาง  แสดงทัศนะไว้ว่า " ความสำเร็จของการทำงาน ขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นหลัก  ผู้เป็นผู้นำจะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถทำงานให้สำเร็จได้  และต้องเชื่อมั่นต่อเพื่อนร่วมงานรวมทั้งคนในชุมชนว่าพวกเขามีความสามารถที่จะทำงานให้สำเร็จได้  เหนืออื่นใดเราจะต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่องานที่ทำว่าสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้  ขณะเดียวกันผู้นำจะต้องมีความรู้ในงานที่ทำอย่างถ่องแท้  รวมทั้งต้องมีคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับด้วย "

                          ธีรพันธุ์  บุญบาง  เริ่มต้นการพัฒนาตนเองด้วยการนำตัวชี้วัดมาตรฐานงานชุมชน รดับบุคคล มาเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง  พร้อม ๆ กับส่งเสริมให้ผู้นำในชุมชนได้ใช้แนวทางนี้พัฒนาตนเองด้วย  ทำให้กระบวนการทำงานในบ้านเนินน้ำเย็น ของธีรพันธุ์  บุญบางมีพลังเพื่อจัดการกับปัญหาของชุมชนได้



                        วันนี้ .............  รายได้จากการใช้พื้นที่  1  ไร่  ของธีรพันธุ์  บุญบาง  สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของธีรพันธุ์  ได้เป็นอย่างดี  และยังเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจได้เป็นอย่างดียิ่ง